วันที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้
5 มกราคม 2561 ห้องประชุมมณฑาทิพย์ เวลา 14.30-16.10 น.
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
1. ดร. ศุภวดี แถวเพีย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ประธาน
2. ดร. กิตติภูมิ ภิญโย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
3. ดร. ศิราณี ศรีหาภาค พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
4. นางสาวทรงสุดา หมื่นไธสง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
5. นางปิยนุช ภิญโย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
6. นางสุธิดา สิงห์ศิริเจริญกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
7. นางสาวรัตนวลี หงษ์คำ นักประชาสัมพันธ์
8. นางนวลละออง ทองโคตร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ผู้ช่วยเลขาฯ
9. นางสาวสุธิดา อินทรเพชร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เลขานุการ
วัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้
1. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบูรณาการการบริการวิชาการแก่สังคมกับการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่
2. เพื่อวางแผนการนำองค์ความรู้ในประเด็นการบูรณาการการบริการวิชาการแก่สังคมกับการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ไปปรับปรุงการปฏิบัติงาน
กลุ่มวิจัยและบริการวิชาการ มีประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การบูรณาการการบริการวิชาการแก่สังคมกับการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เรื่อง “การบูรณาการการบริการวิชาการแก่สังคมกับการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่” โดยกลุ่มใช้คำถาม 2 คำถาม เพื่อค้นหาว่าสิ่งที่ทำอยู่ทำอย่างไร และประสบความสำเร็จได้อย่างไร ดังนี้
คำถามที่ 1 “บูรณาการบริการวิชาการอย่างไร ให้สามารถผลิตผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการได้อย่างประสบความสำเร็จ”
ดร. ศิราณี: เริ่มต้นจากการทำงานด้านการบริการผู้สูงอายุในปี 58 โดยได้รับทุนจาก สปสช. ในโครงการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนภายใต้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ โดยทำใน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ต้นทุนของพื้นที่ พบว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนได้ดี จึงนำทีมงานจากขอนแก่นไปศึกษาดูงานเพื่อให้ทีมขอนแก่นสามารถนำวิธีการ ปฏิบัติมาปรับใช้กับพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปได้ค่อนข้างดี จากการทำงานร่วมกับพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มี ประสบการณ์ตรงและได้นำประสบการณ์นั้นมาเขียนหนังสือการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวฯ รวมถึงเขียนบทความ วิชาการเกี่ยวกับสมัชชาสุขภาพที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ในปี 59 ได้ทำงานวิจัย เกี่ยวกับกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาว 4 จังหวัด โดยได้รับทุน สวรส. ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบ Action research & R&D โดยจะใช้เวลา 2 ปี และจากโครงการวิจัยดังกล่าวได้นำสู่การเสนอโครงการ transitional care in long-term care เพื่อขอทุนจาก สพฉ. โดยได้รับทุนเพื่อทำวิจัยในปี 62
ดร. กิตติภูมิ: หลังจากย้ายมาทำงานที่ วพบ. ขอนแก่น ได้เริ่มต้นโครงการพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วย stroke ที่บ้านเป็ดโดยใช้ PAR เนื่องจากพบว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงค่อนข้างมาก จากนั้นได้พัฒนาเป็นงานวิจัย โดยเริ่มจากการทำ situation analysis โดยเป้าหมายเพื่อให้ได้รูปแบบการพัฒนาศักยภาพ อสม. ซึ่งผลจากการทำ situation analysis ได้งานวิจัย 1 เรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว
อ. ปิยนุช: ในปี 57 เริ่มต้นโครงการครอบครัวอีสานในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยมีเครือข่ายคือ วสส. ขอนแก่น และวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ซึ่งได้เชิญวิทยากรมาช่วยอบรมครู ก ซึ่งก็คือ “นักศึกษา” เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง จากนั้นได้จัดให้มีการอบรมครู ข โดยให้นักศึกษาที่ผ่านการอบรมครู ก มาช่วยเป็นวิทยากร ให้ความรู้แก่แกนนำครอบครัวหรือผู้ดูแล จากโครงการดังกล่าวได้เกิดงานวิจัย 2 เรื่องเกี่ยวกับ การพัฒนาความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนของนักศึกษาพยาบาลและ อสม.
ดร. ศุภวดี: เริ่มจากการเป็นวิทยากรในหลักสูตรผดุงครรภ์ความเสี่ยงสูง นำมาสู่การเขียนบทความวิชาการและงานวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับที่ตัวเองสอน ซึ่งส่วนใหญ่งานสอนจะเกี่ยวข้องกับอายุของมารดาทั้งมารดาวัยรุ่นและมารดาอายุมาก ในการเขียนบทความวิชาการและงานวิจัยเน้นที่ความเชี่ยวชาญ และความสนใจของตนเอง โดยบทความวิชาการเรื่อง สตรีตั้งครรภ์อายุมาก: การพยาบาลที่ควรตระหนักของพยาบาลผดุงครรภ์ ได้รับการตีพิมพ์แล้ว รวมทั้งการวิจัยเรื่องผลของอายุมารดาต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด ในมารดาที่คลอด ณ โรงพยาบาลขอนแก่น และกำลังดำเนินการวิจัยเรื่อง การศึกษาภาวะสุขภาพระยะยาวในมารดาหลังคลอดวัยรุ่นไทย รวมถึงกำลังเขียนหนังสืออีก 1 เรื่องเกี่ยวกับการพยาบาลมารดาในระยะหลังคลอด
อ. ทรงสุดา: ในปี 54 เริ่มต้นจากโครงการของของผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ซึ่งร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยงานวิจัยเป็นรูปแบบ PAR
สรุป จากประสบการณ์ของผู้ร่วมแลกเปลี่ยน การผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัยส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการให้บริการวิชาการ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการสั่งสมประสบการณ์ในด้านนั้นๆ พอสมควร นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความสนใจเป็นพิเศษในด้านนั้นๆ จึงจะสามารถต่อยอดมาเป็นการผลิตผลงานวิชาการหรืองานวิจัยได้ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 ปีขึ้นไป
คำถามที่ 2 “ทำอย่างไรจึงมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเยอะ แหล่งทุนวิจัยได้จากไหน และเลือกแหล่งตีพิมพ์อย่างไร”
ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนได้แสดงความคิดเห็น ในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
1) ทำอย่างไรจึงมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเยอะ
- การเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาปริญญาโท/เอก (ถ้างานวิจัยของนักศึกษาได้รับการตีพิมพ์ ก็จะมีชื่อในงานด้วย)
- การมีเครือข่าย –-- ทั้งในและต่างประเทศ
- การพยายาม integrate ให้เข้ากับการเรียนการสอน
- การบริการวิชาการ
- ความสนใจที่จะทำวิจัยด้วยตัวเอง
2) แหล่งทุนวิจัยได้จากไหน
- ทุนคณะของนักศึกษา (กรณีเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์)
- ทุนบัณฑิตวิทยาลัย (กรณีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนกำลังศึกษาต่อ)
- ทุน วพบ. ขอนแก่น
- ทุน สสจ. (ร่วมกับเครือข่าย เช่น สสจ. ชัยภูมิ)
3) เลือกแหล่งตีพิมพ์อย่างไร
- ดูที่ impact ของงานก่อน ถ้าคิดว่างานวิจัยของตนเอง impact สูง จะเลือกตีพิมพ์กับ วารสารที่มี impact สูงๆ ก่อน เช่น TCI1 ขึ้นไป
- ดูตามความจำเป็น/เร่งด่วนของการได้รับการตีพิมพ์ หากอยากตีพิมพ์เร็วจะอาศัยการ Link กับเครือข่าย แต่หากไม่ต้องการตีพิมพ์เร่งด่วนก็ใช้ช่องทางปกติ
- ตั้งเป้าการตีพิมพ์กับ international journals
กิจกรรมที่ 2 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปองค์ความรู้ได้ ดังนี้
ยังไม่ได้มีการสรุปองค์ความรู้ สมาชิกวางแผนจะร่วมสรุปองค์ความรู้ในการประชุมครั้งหน้า
กิจกรรมที่ 3 แนวทางที่จะนำไปประยุกต์ใช้แล้วจะปรับปรุงตรงไหน ใช้เวลากี่วัน
การกำหนดแนวทางที่จะนำไปประยุกต์ใช้และระยะเวลาการนำไปใช้ จะกำหนดได้เมื่อได้องค์ความรู้ที่ชัดเจน ดังนั้น ในขั้นตอนนี้จึงยังไม่สามารถระบุได้
จบการทำกิจกรรม COP ครั้งที่ 1 เวลา 16.10 น. การแลกเปลี่ยนครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 61
หมายเหตุ Cop ครั้งต่อไป แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ ความรู้/ประสบการณ์ที่ได้ ประเด็น “การสรุปองค์ความรู้ เรื่อง การบูรณาการการบริการวิชาการแก่สังคมกับการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่”
ภาพกิจกรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น