วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สรุปผลของการใช้รูปแบบการพัฒนาความคิดขั้นสูง (Critical Thinking model: STR BCNKK)


 รูปแบบการพัฒนาความคิดขั้นสูง (Critical Thinking model: STR BCNKK)
สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น
*******************************

ทักษะการคิดขั้นสูง หมายถึง ผู้เรียนสามารถสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย มีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาชีพและที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้ประสบการณ์เป็นฐาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพในการให้บริการการพยาบาล และสามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทางการวิจัย และ นวัตกรรมที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา รวมทั้ง มีสมรรถนะโดดเด่นด้านการพยาบาลชุมชน โดยมีความรู้ความสามารถเป็นนวัตกรด้านสุขภาพ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 Stimulation: สิ่งเร้า/สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้จากประสบการณ์ตรง /สถานการณ์ ที่เป็นประเด็นด้านบวกและลบ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ดีขึ้น
   
ขั้นตอนที่ 2 Thinking: กระบวนการคิดไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นพลวัตร โดยผ่าน 5 ขั้นตอน ทุกขั้นตอนผ่านเทคนิคการสะท้อนคิด (Reflective) 
1) A: Analysis: คิดวิเคราะห์ จากสิ่งเร้า สถานการณ์ เพื่อกำหนดประเด็นในการเรียนรู้
2) B: Brain storming: ระดมความคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล เชื่อถือได้ 
3) C: Communication and Open-Mind สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
4) D: Decision Making: สรุปประเด็นสำคัญและตัดสินใจเลือกแนวทางการพัฒนาปรับปรุงหรือแก้ปัญหา 
5) C: Creativity: พัฒนาปรับปรุง หรือ แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้บริบทที่เป็นไปได้

ขั้นตอนที่ 3 Result: ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ประเมินผลจากความรู้ (MEQ) ทักษะ (OSCE) สมรรถนะ (CT) และการสะท้อนคิด (AAR)
   
โดยสรุปเป็นรูปแบบดังนี้





 ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาความคิดขั้นสูง : รายวิชาปฎิบัติการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช 

          รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชได้นำ รูปแบบที่พัฒนาไปดำเนินการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 6 กลุ่ม กลุ่มละ  6 คน  ระยะเวลาที่ใช้  4 สัปดาห์ (13 มค.- 7 ก.พ. 2563) โดยรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชได้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งในหอผู้ป่วยและชุมชนไปดำเนินการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความคิดขั้นสูงในรายวิชาซึ่งหลังจากจัดการเรียนการสอนเรียบร้อยผู้รับผิดชอบรายวิชาได้มาสรุปร่วมกันได้ข้อสรุปวิธีการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษาทั้งในหอผู้ป่วยและในชุมชนสรุปวิธีการได้ดังนี้

การฝึกปฏิบัติในหอผู้ป่วย

1. วัตถุประสงค์การเรียนการสอน
- เพื่อพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงในการใช้เทคนิคการสื่อสารทางจิตเวชในการให้การพยาบาลผู้ที่มีปัญหาทางจิตในหอผู้ป่วย

2. วิธีการเรียนการสอน
- การจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง (Authentic) โดยใช้กรณีศึกษาในหอผู้ป่วยในประเด็นการใช้เทคนิคการสื่อสารทางจิตเวชในการให้การพยาบาลผู้ที่มีปัญหาทางจิตในหอผู้ป่วย

ขั้นตอนที่ 1 Stimulation

1. อาจารย์นิเทศมอบหมายให้นักศึกษาศึกษาเทคนิคการสนทนาเพื่อการบำบัดคนละสองเทคนิคและนำมารวมกันทั้งกลุ่มจะได้ทั้งหมด 16 เทคนิค
2. ผู้สอนประสานอาจารย์พิเศษสอนภาคปฎิบัติ ในโรงพยาบาลเพื่อเลือกกรณีศึกษาผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวช ให้นักศึกษารายบุคคลโดยศึกษาประวัติ จากแฟ้มประวัติ ก่อนเข้าไปสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย
3. ให้นักศึกษาเขียนบันทึกสนทนาเพื่อการบำบัดในสัปดาห์ที่ 1 และอาจารย์นิเทศตรวจความถูกต้องเหมาะสมของการใช้เทคนิคการสนทนา

ขั้นตอนที่ 2 Thinking: ดำเนินการขณะ Post conference

1) ขั้น Analysis : ตัวอย่าง การใช้เทคนิคการสนทนากับผู้ป่วย
 
นักศึกษา: นักศึกษานำเสนอปัญหาที่ใช้เทคนิคการสนทนา 

ผู้ป่วยพูดว่า “เบื่อโรงพยาบาลอยากกลับบ้าน”
นักศึกษาถามอาจารย์ว่า “ไม่ทราบว่าใช้เทคนิคนี้ถูกต้องไหม”
อาจารย์ถาม “นักศึกษาทั้งหมดลองคิดดูสิคะว่า เราควรจะใช้เทคนิคอะไรเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอยากอยู่รักษาจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านคะ”
นักศึกษาคนที่ 1 “ใช้ Restating ว่า คุณเบื่อโรงพยาบาลอยากกลับบ้าน”
อาจารย์ “ถามแบบนี้แล้วถ้าเป็นตัวนักศึกษาที่มีความรู้สึกเช่นนี้รู้สึกอย่างไรคะมีใครบอกได้บ้าง”
นักศึกษาคนที่ 2 “หนูคิดว่าผู้ป่วยคงคิดทบทวนตัวเองว่าอยากกลับบ้านจริงไหม”
นักศึกษาคนที่ 3 “หนูคิดว่าถ้าเป็นหนูๆคงคิดว่าหนูเบื่อโรงพยาบาลและอยากกลับบ้านจริงไหม”

อาจารย์นิเทศตั้งคำถามให้นักศึกษาได้คิดทบทวนในการวิเคราะห์ (R) และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา ( Co)

อาจารย์ “จากนักศึกษาตอบมาถ้าครูเปลี่ยนใช้เทคนิค Reflect content หรือ Reflect feeling นักศึกษาจะพูดว่าอะไรแล้วผู้ป่วยหรือตัวนักศึกษาคิดว่าอย่างไรคะ” 
นักศึกษาคนที่ 4 “Reflect content คุณอยากกลับบ้านเพราะเบื่อโรงพยาบาล ถ้าเราถามแบบนี้ผู้ป่วยก็จะคิดว่าเราเบื่อโรงพยาบาลจนอยากกลับบ้านจริงหรือไม่  ทำให้คิดทบทวนอีกครั้งค่ะ”
นักศึกษาคนที่ 5 “Reflect feeling คุณรู้สึกเบื่อโรงพยาบาลจนอยากจะกลับบ้าน ถ้าเราถามแบบนี้ผู้ป่วยก็จะคิดว่าเราเบื่อโรงพยาบาลจนอยากกลับบ้านจริงหรือไม่ ทำให้คิดทบทวนอีกครั้งค่ะ”
อาจารย์ “แล้ว Restating กับ Reflect content กับ Reflect feeling เหมือนหรือต่างกันอย่างไรคะ ”

2) ขั้น Brain storming : ให้นักศึกษาทั้งหมดร่วมคิดและร่วมกันถกความแตกต่างโดยให้นักศึกษากกันเองอย่างอิสระใช้เวลา 5 นาที

นักศึกษาตัวแทนตอบ : “พวกหนูคิดว่าผลที่ได้เหมือนกันคือให้ผู้ป่วยได้คิดทบทวนคำพูด ความคิดที่เค้าพูดอีกครั้งค่ะ”
อาจารย์“แล้วสามเทคนิคนี้ต่างกันอย่างไรคะ” อาจารย์ถามเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาวิเคราะห์ความแตกต่างของเทคนิคเพื่อจะได้ทราบเหตุผลและช่วงเวลาที่เหมาะที่จะใช้เทคนิคกับผู้ป่วยเพื่อช่วยผู้ป่วย

อาจารย์นิเทศกระตุ้นการเรียนรู้โดยตั้งคำถามให้เพื่อนในกลุ่มมีส่วนร่วม ระดมคิดเห็น (R)  และให้ทุกคนเปิดใจรับฟังความคิด และเสนอความคิดโดยอิสระ( Co)

นักศึกษาคนที่ 1 : “Restating เป็นการพูดทวนซ้ำทั้งประโยคเพื่อให้เค้าทบทวนสิ่งที่พูดอีกครั้ง”  
นักศึกษาคนที่ 2 : “Reflect content จะเป็นการพูดที่เน้นเนื้อหาที่ผู้ป่วยสื่อสารที่สำคัญให้เค้าคิดทบทวนอีกครั้งว่าเนื้อหาที่พูดจริงหรือไม่”  
นักศึกษาคนที่ 3 : “Reflect feeling จะเป็นการพูดที่เน้นความรู้สึกที่ผู้ป่วยสื่อสารที่สำคัญให้เค้าคิดทบทวนอีกครั้งว่าเค้ารู้สึกอย่างนั้นจริงหรือไม่”    
นักศึกษาคนที่ 4 : “หนูว่าใช้ได้ทั้งสามเทคนิคค่ะเพราะทุกเทคนิคทำให้ผู้ป่วยทบทวน”  

3) ขั้น Decision Making : ให้นักศึกษาทั้งกลุ่มตัดสินใจเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมที่สุดโดยให้เปิดใจ (Co) รับฟังเหตุผลของเพื่อนพร้อมคิดตามถ้าตอบแบบนี้จะเป็นไปตามที่เพื่อนเสนอไหมถ้าแย้งให้ฟังเพื่อนเสร็จก่อนค่อยบอกสิ่งที่เราคิด

อาจารย์: “ทั้งสามเทคนิคสามารถใช้ได้หมดแต่เทคนิคอะไรที่ควรใช้แล้วสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากที่สุดคะ”

นักศึกษาร่วมกันคิดว่าเทคนิคอะไรดีที่สุดโดยต่างคนต่างให้เหตุผลสนับสนุนความคิดของตนเอง โดยครูกระตุ้นเมื่อนักศึกษาบางคนไม่แสดงความคิดเห็นจนได้แสดงความคิดเห็นครบทุกคนและอาจารย์เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา ( Co) ตามที่ตกลงกัน

อาจารย์ : “สรุปว่านักศึกษาเลือกเทคนิคไหนที่ควรใช้แล้วสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากที่สุดคะ”
นักศึกษา“Restating ค่ะ เพราะเป็นการพูดทวนซ้ำทั้งประโยคเพื่อให้เค้าทบทวนสิ่งที่พูดอีกครั้ง”
อาจารย์ : “การช่วยเหลือที่เหมาะสมที่สุด นักศึกษาคิดว่าผู้ป่วยขณะนี้มีปัญหาด้านอะไรมากที่สุดคะ”
นักศึกษา : “ความคิดค่ะ”
อาจารย์ : “ลองทบทวนสิ่งที่เค้าพูดสิคะแล้วลองคิดถ้าเราพูดเรามีปัญหาด้านใดระหว่าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือ ความรู้สึก หรือ ความเป็นจริง” 
นักศึกษาคิดทบทวนอีกครั้งและตอบว่า “ความรู้สึกค่ะเพราะผู้ป่วยบอกว่าเบื่อโรงพยาบาล เบื่อเป็นความรู้สึกค่ะ ควรเป็นเทคนิค Reflective feeling ค่ะ”
อาจารย์ : “นักศึกษามั่นใจไหมคะว่าเป็นความรู้สึก” ถามเพื่อฝึกให้นักศึกษายืนหยัดในสิ่งที่ตนเองคิดและเป็นการย้ำความรู้ว่าสิ่งที่คิดถูกต้องเพื่อให้นักศึกษามั่นใจ
นักศึกษา : นักศึกษาทำท่าไม่มั่นใจแต่พอถามเพื่อนร่วมกันก็สรุปออกมาว่า “มั่นใจค่ะ”
อาจารย์ : “เก่งมากค่ะ ขอให้นักศึกษาดูที่ Key word และหลักการใช้เทคนิคแต่ละอันเพราะเห็นไหมว่าเทคนิคสามารถใช้ได้ถูกแต่อะไรที่จะช่วยได้ตรงกับสิ่งที่ผู้ป่วยมีปัญหามากที่สุดโดยอาจมองที่ตัวเองหากเราพูดแบบนี้แล้วพยาบาลพูดกลับมาแบบนี้เรารู้สึกอย่างไร รู้สึกตรงกับปัญหาเราหรือไม่ค่ะ” 

4) ขั้น Creativity : มอบหมายให้นักศึกษาใช้เทคนิคที่ซับซ้อนขึ้นในการสนทนาครั้งต่อไปและเขียนมาส่งนักศึกษานำไปใช้และสามารถใช้เทคนิคถูกเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนไม่ถูกบางเทคนิคได้เข้ากระบวนการในขั้น Analysis ใหม่

ขั้นตอนที่ 3  Result  : หลังสิ้นสุดได้ประเมินเอกสารผลงานครั้งที่สองพบว่าส่วนใหญ่ใช้เทคนิคและให้เหตุผลได้ถูกต้อง นักศึกษาที่ทำคะแนน Pretest ต่ำ 33 คะแนน เต็ม 75 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 50 คะแนน และทุกคนมีคะแนนสูงขึ้นสอบผ่านเกณฑ์ทุกคนมีคนได้คะแนนสูงสุด 60 คะแนน จาก 75 คะแนน
ในการประเมินหอผู้ป่วยนักศึกษาประเมินโดยใช้เหตุผล บนพื้นฐานความเป็นจริงหลังสิ้นสุดกิจกรรมผู้สอนให้นักศึกษาประเมินผลการเรียนรู้  โดยการสะท้อนคิด 
1. ได้เรียนรู้จากการฝึก การ conference  ทำให้เห็นภาพไม่เป็นความคิดที่จับต้องไม่ได้ มีความรู้และเข้าใจในการสนทนาเพื่อการบำบัด
2. มีความใจเย็นในการรับฟังเพื่อน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
3. คิดวิเคราะห์ก่อนทำแผนการพยาบาล และระดมความคิดจากกลุ่มเมื่อพบปัญหา มีความสุขในการเรียนไม่เครียด

การปฏิบัติในชุมชน

1. วัตถุประสงค์การเรียนการสอน
- เพื่อพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงในการพยาบาลผู้ที่มีปัญหาทางจิตในชุมชน (ภาวะพกพร่องทางปัญญา)

2. วิธีการเรียนการสอน
- การจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง (Authentic) โดยใช้กรณีศึกษาในชุมชนในประเด็นการพยาบาลผู้ที่มีปัญหาทางจิตในชุมชน : กรณีศึกษาภาวะพกพร่องทางปัญญา

ขั้นตอนที่ 1  Stimulation

1. ผู้สอนประสานครูพี่เลี้ยง ใน รพสต. บ้านเป็ด เพื่อเลือกกรณีศึกษาผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวช ใน ชุมชน (ปัญหาทางจิต สมองเสื่อม ภาวะพกพร่องทางปัญญา ฯลฯ)
2. อาจารย์นิเทศคัดเลือกกรณีศึกษาที่ตรงกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้
3. มอบหมายให้นักศึกษา 2 คน ศึกษากรณีศึกษา 1 ราย โดยนักศึกษา ศึกษาประวัติ จากแฟ้มประวัติ ที่รพสต. ก่อนเข้าศึกษาจริง 
4. นักศึกษาเข้าศึกษาที่บ้านของกรณีศึกษา พร้อมอาจารย์นิเทศ ในประเด็นการประเมินปัญหา การช่วยเหลือ ให้พยาบาล และการส่งต่อกรณีศึกษา เมื่อสิ้นสุดการฝึกปฏิบัติเพื่อให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง

ขั้นตอนที่ 2 Thinking

1) ขั้น Analysis : ตัวอย่าง  วิเคราะห์กรณีศึกษา มีความพร่องทางสติปัญญา 

นักศึกษา: นักศึกษานำเสนอประวัติกรณีศึกษา มีประวัติเกิดอุบัติเหตุตอนอายุ 1 ปี ตกเตียง ต่อมาชัก 
              รักษาที่รพ.ตลอด ด้วยพัฒนาการล่าช้า เรียนไม่ทันเพื่อนถูกเพื่อนล้อ มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย  
              ต้องออกจากโรงเรียน  ป.6 ตอนอายุ 13 ปี ปัจจุบัน อายุ 24 ปี ทำกิจวัตรประจำวันได้เอง  
              สื่อสารด้วยคำพูดง่ายๆ   ทำอาหารเองไม่ได้

อาจารย์นิเทศตั้งคำถามให้นักศึกษาได้คิดทบทวนในการวิเคราะห์ (R) และเปิดใจรับฟังความคิดเห็น  ของนักศึกษา ( Co)

อาจารย์นิเทศ :  จากที่เล่ามา มีข้อมูลใดบ้างที่บอกว่า มีภาวะพกพร่องทางปัญญา
                  :  นักศึกษาคิดว่า กรณีศึกษามีระดับอายุสมองเท่าไหร่ 
                  :  มีเครื่องมืออะไรบ้าง ในการบอก/ประเมินระดับสติปัญญาของกรณีศึกษา

2) ขั้น Brain storming :  ตัวอย่าง 

นักศึกษา : ได้ค้นหาแบบประเมินสติปัญหามานำเสนอเพื่อน 2 แบบประเมิน และสรุปให้เพื่อนฟังว่า 
               มีภาวะพกพร่องทางปัญญาระดับเล็กน้อย IQ 50-70 อายุสมองเท่ากับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี 
               เท่ากับ ป.6 สามารถดูแลตนเองได้ สื่อสารและเข้าสังคมได้ในระดับพื้นฐาน ทำงานบ้านได้
อาจารย์ : ยอดเยี่ยมมากค่ะ ค้นคว้ามาดีมาก นักศึกษาคิดว่า เด็กอายุ 12 ปี สามารถทำอะไรได้บ้างค่ะ

อาจารย์นิเทศกระตุ้นการเรียนรู้โดยตั้งคำถามให้เพื่อนในกลุ่มมีส่วนร่วม ระดมคิดเห็น (R)  และให้ทุกคนเปิดใจรับฟังความคิด และเสนอความคิดโดยอิสระ( Co)

อาจารย์ : ตอนนักศึกษาอายุ 12 ปี อยู่ ป. 6  สามารถทำอะไรได้บ้างค่ะ และเมื่อเทียบกับกรณีศึกษา
กิจกรรมใดที่ยังไม่ได้พัฒนาเต็มศักยภาพตามวัย  กิจกรรมที่ควรสนับสนุนเพิ่ม เพื่อส่งเสริมให้กรณีศึกษาได้พึงตนเองเต็มศักยภาพคือเรื่องใดบ้าง 
นักศึกษา 1 : ตอนอยู่ ป.6 นึ่งข้าวได้ ทอดไข่ได้  
นักศึกษา 2 : ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ได้ทุกอย่าง  
นักศึกษา 3 : ช่วยพ่อแม่ทำนา  
นักศึกษา 4 : กวาดบ้าน ถูบ้าน ดูแลน้องได้  

3) ขั้น Decision Making : สรุปประเด็นสำคัญและตัดสินใจเลือกแนวทางการพัฒนาปรับปรุงหรือแก้ปัญหา 

นักศึกษา :  นักศึกษาตัดสินใจเลือกกิจกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพตามพัฒนาการ 2 กิจกรรม และนำไปเสนอให้ครอบครัวกรณีศึกษาได้รับทราบและร่วมมือในการทำกิจกรรมคือ 

1) การพึงพาตนเอง ด้วยการทำอาหารด้วยตนเองได้กินเองได้ (ทอดไข่ )  แต่แม่กรณีศึกษาไม่ให้ทำ เนื่องจากกลัวเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้  
2) การฝึกล้างจาน  แม่กรณีศึกษาไม่เห็นด้วย  เนื่องจากลูกล้างไม่สะอาด  
3) การสอนความรู้เรื่องเพศศึกษาเพื่อ  ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ และการตั้งครรภ์ แม่กรณีศึกษา เห็นด้วย 
    นักศึกษานำเรื่องที่แม่กรณีศึกษาไม่เห็นด้วยในการทำกิจกรรมที่ 1 และ 2 ปรึกษา
    อาจารย์ :  การที่แม่กรณีศึกษาไม่ให้ลูกทำอาหารเอง ด้วยการทอดไข่ นักศึกษาคิดอย่างไร
    อาจารย์ :  การที่แม่กรณีศึกษาไม่ให้ลูกล้างจาน เพราะไม่สะอาด นักศึกษาคิดอย่างไร
    นักศึกษา : แม่รักลูกมากเกินไป ควรโน้มน้าวให้ทำ เพราะจะได้ดูแลตนเองได้เมื่อไม่มีแม่ดูแล
    อาจารย์นิเทศกระตุ้นการเรียนรู้โดยตั้งคำถามให้นักศึกษาได้คิดทบทวนเพื่อหาทางจัดการกับปัญหา (R) พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา ( Co) ส่วนนักศึกษากลับไปทบทวนกิจกรรมและนำไปปฏิบัติ
    อาจารย์ :  ถ้าสมมุตินักศึกษาเป็นแม่ จะทำอย่างไร เพื่อให้ลูกช่วยตนเองได้  และไม่ได้รับอันตราย
               : เมื่อนักศึกษาคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ ควรปรับอย่างไร
4) ขั้น Creativity: ในวันที่ 4 นักศึกษาทำกิจกรรมร่วมกับแม่ของกรณีศึกษา

1) ทำแซนวิช หลากหลากรส ไส้นม ไส้ลูกเกด หมูหยอง  ฯลฯ ตามที่กรณีศึกษาชอบ ด้วยตนเอง
2) หลังทำ แซนวิช เสร็จ นักศึกษาสอนการล้างถ้วยชาม 
3) สอนความรู้เรื่องเพศศึกษา โดยใช้คลิปวีดีโอ สื่อแผ่นภาพการสะท้อนกลับเรื่อง การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ และการตั้งครรภ์  และการดูแลรอบเดือน

ขั้นตอนที่ 3  Result

หลังสิ้นสุดกิจกรรมผู้สอนประเมินผลการพยาบาลจาก กรณีศึกษาและครอบครัว
1. กรณีศึกษาให้ความร่วมมือดีมาก มีความสุข สนุกกับการทำกิจกรรมการทำอาหารและการล้างจาน สามารถทำกิจกรรมได้เต็มศักยภาพตามพัฒนาการ
2. กรณีศึกษา สามารถทบทวนย้อนกลับได้ การดูแลตนเองในการป้องกันการละเมินทางเพศได้ โดยทวนได้ว่า อวัยวะไหน ไม่ควรให้เพศตรงข้ามแตะต้อง  การดูแลรอบเดือน
3. มารดาพึงพอใจอย่างมาก ต้องการให้นักศึกษาเข้าเยี่ยมกรณีศึกษาบ่อย ๆ 
4. ส่งต่อข้อมูลปัญหาและกิจกรรมการพยาบาลต่อ รพสต. เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง
 
หลังสิ้นสุดกิจกรรมผู้สอนให้นักศึกษาประเมินผลการเรียนรู้  โดยการสะท้อนคิด 
1. ได้เรียนรู้จากกรณีศึกษา ทำให้ มีความรู้และเข้าใจการประเมินระดับสติปัญญา และการนำกิจกรรมการให้การดูแลมาใช้ได้จริง
2. ภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถดึงศักยภาพของกรณีศึกษาให้สามารถทำกิจกรรมตามพัฒนาการได้
3. ได้เรียนรู้การเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ บริบทของแม่ ที่รักและห่วงลูก นศ.ต้องปรับกิจกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริง
4. การตั้งคำถามให้คิดวิเคราะห์ และระดมความคิดจากกลุ่ม และการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมทำให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหา และสร้างสรรค์


 ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาความคิดขั้นสูง : รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลอนามัยชุมชน 1 


          ทักษะการคิดขั้นสูง หมายถึง ทักษะที่ผู้เรียนสามารถ วิเคราะห์ข้อมูล ภายใต้การนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาอย่างเป็นระบบ นำข้อมูลมาวางแผนภายใต้ข้อมูลสนับสนุนที่เก็บรวบรวมมาและการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย จากนั้นนำข้อมูลมาวางแผน และจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อนำปัญหามาวางแผนภายใต้สภาพจริง ข้อจำกัดในเรื่องเวลา อุปกรณ์ เพื่อนำไปสู่การออกแบบสื่อ นวัตกรรมหรืออื่น ๆ ที่นำไปให้การพยาบาลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์มากที่สุด สำหรับผู้รับบริการ หลังจากนั้นประเมินผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้รับบริการ ประเมินสื่อที่ออกแบบในการพยาบาลและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสื่อเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น ๆ ต่อไป โดยกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ ชักระบวนการ คิดวิเคราะห์ การระดมสมองกับผู้ป่วย ครอบครัว เพื่อน ครู จากนั้นมีกระบวนการตัดสินใจที่จะวางแผน การให้การพยาบาล วิธีประเมินผลและการออกแบบสื่อ เช่น แผ่นพับ วิดิโอ ไลน์ กรณีตัวอย่าง นวัตกรรม ฯลฯ และให้การพยาบาลรวมถึงการประเมินผล ซึ่งการประเมินผลผลลัพธ์ประเมินทั้งกระบวนการดูแลผู้รับบริการ ผลลัพธ์ที่เกิดขี้นทั้งทางกายภาพและเชิงคลินิก และการประเมินผลอีกส่วนหนึ่งเป็นการประเมินที่ตัวนักศึกษาทั้งการ สอบ และการสะท้อนคิดผลลัพธ์ที่เกิดกับนักศึกษา

Key success

1. ครูมีส่วนที่จะกระตุ้นให้คิดโดยใช้คำถามให้คิด หาคำตอบและนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในกลุ่ม  ครอบครัวผู้ป่วยหรือผู้รู้อื่น ๆ
2. วิชาที่ฝึกเป็นการปฏิบัติจริง  มีระยะเวลาที่นานพอที่จะประเมิน  วางแผน ให้การพยาบาล ประเมินผล จนเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
3. ครูต้องฟัง และให้นักศึกษาคิดอย่างอิสระและประเมินสิ่งที่กระทำด้วยตนเองมากกว่าแนะนำสิ่งที่ครูคิด
4. การให้นักศึกษาได้เลือกวิธีการ ให้การพยาบาล  การประเมินผล ทำให้นักศึกษากระตือรือร้นที่อยากเห็นผลลัพธ์ที่ตัดสินใจเลือก


A: กระบวนการ Analysis สามารถเกิดได้ทั้ง 4 ขั้นตอน ตั้งแต่ประเมินครอบครัว วางแผนการให้การพยาบาลและประเมินผล
B: Brain storming การระดมสมองสามารถเกิดได้ทุกขั้นตอน ครูเป็นกุญแจที่สำคัญที่จะวางกลไก และใช้คำถามที่ทำให้นักศึกษากล้าแสดง ความคิดเห็น การใช้ สุนทรียสนทนา การฟัง การสร้างบรรยากาศ และการห้อยแขขวนไม่ตัดสินว่าผิด ถูกมีส่วนสำคัญ และที่สำคัญต้องทำให้บรรยากาศในการคุยไม่เคร่งเครียด กดดัน 
Co: Communication การสื่อสารสามารถทำได้ทั้ง การฟัง การพูด การเขียนและการทำสื่อที่สามารถให้การพยาบาลได้
D: Decision making เกิดได้ทุกขั้นตอน ต้องตัดสินใจตั้งแต่ขั้นตอนการซักประวัติ นำข้อมูลมานำเสนอ วางแผน จัดลำดับความสำคัญ และเลือกปัญหาที่สำคัญมาแก้ไขภายใต้บริบท และความเป็นไปได้ของกรณีศึกษา ตัดสินใจที่จะเลือกสื่อ วิธีประเมินผล
C: Creative ขั้นตอนนี้เป้ทักษะการคิดขั้นสูง ที่เป็นการคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้วิธีการพยาบาลสื่อที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และเมื่อให้การพยาบาลแล้วเทียบกับวิธีเดิมดีกว่าโดยประเมินจาก ประหยัดเงิน เวลาน้อย ราคาถูก ใช้ง่าย และที่สำคัญคือเปรียบเทียบกับวิธีเดิมแล้วมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยและผู้ป่วยพึงพอใจ
R: Results ผลลัพธ์ที่เกิด มองได้ เป็น 2 ส่วนคือในส่วนของผู้รับบริการและในส่วนของนักศึกษา จากการสะท้อนคิด การสอบ หรือวัดจากอาการทางคลินิกหรืออื่น ๆ

หลังจากมีการจัดการเรียนการสอนพบว่า  เป็น Model SAMART-A (Situations  oriented)

S: Simulation เป็นโจทย์สถานการณ์ (สถานการณืจริง จำลอง สื่อวิดิโอ เรื่องเล่า ภาพยนตร์) ที่กระตุ้นให้เกิด การคิด โดยต้องมีการกระตุ้นโดยคำถามจากครู ต้องวิเคราะห์ให้เห็น knowledge gap   Holistic care Policy ภายใต้บรรยากาศที่ทำให้อยากเรียนรู้ ไม่เครียด ใช้สุนทรียสนทนา (dialogue ฟังอย่างลึกซึ้ง บรรยากาศ ไม่ตัดสินคนอื่น ความเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น) ในการวิเคราะห์หรือโน้มน้าวให้เกิดความน่าสนใจ
A: Analysis การวิเคราะหือยู่ภายใต้กรอบ สิ่งที่ยังไม่รู้ ข้อมูลจริงของกรณีศึกษา evidence base ที่จะสนับสนุนความเป็นไปได้ วิเคราะห์โดยยึดผู้ป่วย ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง แล้วนำมาวางแผนและจัดลำดับความสำคัญ ก่อน หลัง พิจารณาให้การพยาบาลในขอบเขตหรือข้อจำกัดของนักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะเวลาที่ดูแล
M: Make decision การตัดสินใจในการดูแลภายใต้ ความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยยึดหลักความปลอดภัยผู้ป่วย (Patient safety) ภายใต้ความร่วมมือของครอบครัว ชุมชน หรือสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary) Guide line CPG
A: Actions การลงมือให้การพยาบาลยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วย continuing care referral system Guide line, CPG
R: Reflection self reflection peer reflection PDCA 
T: Transformative Learning เป็นการจัดกระทำโครงสร้างของความรู้ เดิมให้สอดคล้อง ให้สอดคล้องต่อเนื่องกับสถานการณืปัจจุบันมีความรู้ใหม่โดยเกิดการเปลี่ยนแปลง ความรู้ ข่าวสาร เกิดความรู้ใหม่ เกิด critical thinking creative thinking
Transformative = Analytical Thinking โดยประเมินจาก การสอบ การประยุกต์ความรู้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ ความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ เกิดสิ่งใหม่ในตนเอง เห็นคุณค่าตนเอง เห็นคุณค่าผู้อื่น






ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาความคิดขั้นสูง : รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ 2
ภายใต้กิจกรรม Pre-Post conference และ EBN ในการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา

Simulation (S)
-  มอบหมายเคสให้นักศึกษาให้การพยาบาลโดยใช้กระบวนการพยาบาลในแต่ละวัน
-  เมื่อสิ้นสุดการขึ้นฝึกประสบการณ์ในแต่ละวัน ผู้สนจัดกิจกรรม post conference หลังฝึกปฏิบัติงาน โดยให้นักศึกษาเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่นักศึกษาปฏิบัติกับผู้รับบริการ

Thinking (T) ABCoDC 

1. Analysis/Communication Open-mind
    - ก่อนเริ่มกิจกรรมการเรียนการสอนอาจารย์ผู้สอนใช้คำถามสะท้อนคิด (จิตตปัญญา) เช่น สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของนักศึกษาก่อนเริ่มเรียน เพื่อหยั่งรู้ความรู้สึกและความพร้อมของผู้เรียนก่อนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ เช่น สถานการณ์ที่นักศึกษาเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้ นักศึกษารู้สึกอย่างไร นักศึกษารู้สึกอย่างไรในการประเมินหรือดูแลผู้รับบริการที่ได้รับมอบหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้รับบริการคืออะไร ประเมินอย่างไร ใช้เทคนิคอะไรในการประเมิน
    - อาจารย์ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแชร์ประสบการณ์ความรู้สึกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยไม่มีคำตอบถูกผิด และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการทำ Bed side nursing care หรือ Grand round การตรวจเยี่ยมผู้รับบริการร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ และให้นักศึกษาสะท้อนคิดจากสิ่งที่ได้เรียนในสถานการณ์นั้น
2. Brainstorming/ Communication Open-mind
    - นักศึกษามีอิสระในการคิดวิเคราะห์ปัญหาของผู้รับบริการ ว่าผู้รับบริการมีปัญหา ปัญหานั้นมีสาเหตุหรือความสำคัญอย่างไร ที่นักศึกษาจะต้องค้นหาแนวมทางในการดูแลช่วยเหลือดเพื่อให้ปัญหานั้นหมดไป
    - นักศึกษามีการสอดแทรกความรู้ที่เรียนผ่านมาว่ามีทฤษฎีอะไรมารองรับ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร มีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อะไรบ้าง โดยมีอาจารย์ผู้สอนใช้คำถามกระตุ้นคิดและสังเกตพฤติกรรมการรเรียนรู้ของนักศึกษา 
3. Decision Making/ Communication Open-mind
    - นักศึกษามีความมั่นใจ กล้าคิดและกล้าตัดสินใจเลือกวิธีที่แก้ไขปัญหาในแต่ละรูปแบบ  มีทฤษฎีหรืองานวิจัยมารองรับ เปรียบเทียบผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ เมื่อการให้การพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ 
4. Creativity
    - แนวทางแก้ไขปัญหาและการประเมินการจัดการเรียนการสอนที่พบและเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือการพัฒนาในเรื่องสื่อการจัดการเรียนการสอนหรือฐานข้อมูลในการสืบค้นเอกสาร วารสารมีความทันสมัยและเข้าถึงง่าย และการใช้คำถามกระตุ้นคิดวิเคราะห์จากอาจารย์ผู้สอน

Result
1. นักศึกษามีทักษะการคิดวิเคราะห์ในการปฏิบัติการพยาบาล เกิดแนวทางปฏิบัติที่ดีเพื่อให้การพยาบาลที่มีคุณภาพ เช่น แนวทางการประเมินปัญหาของผู้รับบริการได้ครอบคลุม
2. นักศึกษามีทักษะในการสืบค้นและการสื่อสารเพิ่มขึ้น และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
3. นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และภายหลังสำเร็จการศึกษามีความสนใจเลือกปฏิบัติในแผนกห้องคลอดและสูติกรรมมากขึ้น
4. นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและปัญหาได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ และวางแผนการพยาบาลได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ
5. นักศึกษาได้รับคำชื่นชม ก่อให้เกิดความภูมิใจและมีกำลังใจในการปฏิบัติงาน

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
- ทีมผู้สอนเข้าใจกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Critical Thinking model (STR BCNKK) และต้องมีทักษะตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเกิด Critical Thinking
- อาจารย์ผู้สอนควรสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีอิสระและเวลาในการคิดไตร่ตรอง ทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลผู้รับบริการและความรู้ตามทฤษฎีที่ได้เรียนผ่านมาของตนเองและงานก่อนนำเสนอ
- อาจารย์ผู้สอนมีความเป็นกันเอง น่าเข้าหาและใช้คำพูดในการกระตุ้นคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่คำพูดคุกคาม
- ผลสัมฤทธิ์การเรียน จากผลการสอบวัดนักศึกษาสอบผ่านในรายวิชาทฤษฎีผ่าน 60%



ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาความคิดขั้นสูง : กลุ่มวิชาพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
2.แนวปฏิบัติการสอนในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่ 1




สรุปผลการใช้รูปแบบการพัฒนาความคิดขั้นสูงการสะท้อนคิด
Critical Thinking Model (STC BCNKK)

          จากการดำเนินงานพบว่า Communication Open-Mind (Co) เป็นตัวเชื่อมของทุกจุดจึงปรับเปลี่ยน Model เป็นดังนี้ ขั้นตอนของ Critical Thinking  Model (STR BCNKK)


1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นการพัฒนานักศึกษาที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในการจัดการเรียนการสอน

    ตอบลบ